2013

พ่อบ้าน ผู้พิทักษ์ “เต่าทะเล”


พ่อบ้าน ผู้พิทักษ์ “เต่าทะเล”     


     “เราต้องทำด้วยใจรัก ถ้าเรามีใจรักแล้ว เราจะทำงานด้วยความสุข เพราะเราจะไม่เครียดกับมัน”
คำพูดของ “เกรียงศักดิ์ ดิษฐวุฒิ” หรือ “พี่เกรียง” เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เกาะมันใน จังหวัดระยอง ชายวัย 51 ปี ที่ยังคงดูหนุ่มและใจดี ซึ่งทำงานกับเต่าบนเกาะที่ไร้แสงสีแห่งนี้มาถึง 20 ปี               
     เดิม “พี่เกรียง” เป็นคนอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานประจำของบริษัททั่วไป จนกระทั่งอายุ 30 ปี มีเพื่อนชักชวนมาให้ทำงานที่ “เกาะมันใน” เขาจึงตัดสินใจมาโดยไม่ลังเล ฉันจึงถามพี่เกรียงว่า เบื่อหรือไม่ที่ต้องอยู่บนเกาะที่น้ำไฟมีจำกัด ต้องตื่นแต่เช้ามาดูแลเต่า ทำแบบนี้เดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวัน “ถ้าพี่เบื่อ พี่ก็ลาออกแล้ว” คำพูดพร้อมเสียงหัวเราะและแววตาที่ดูอบอุ่นของเขาทำให้ฉันได้สัมผัสถึงความผูกพันที่เขามีต่อเต่าทะเลในเกาะมันในแห่งนี้               
     เขาเล่าถึงการทำงานผู้พิทักษ์เต่าทะเลว่า               
     “การทำงานไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องทำงานชิ้นนั้นชิ้นนี้ จะทำตั้งแต่การเพาะฟัก การอนุบาล การสำรวจแม่พันธุ์เต่าที่ไปวางไข่ตามที่ต่างๆ งานค่อนข้างหลากหลายและจะคอยผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่”               
    อย่างการออกไปสำรวจแม่พันธุ์ที่มาวางไข่ เมื่อแม่เต่าทะเลวางไข่เรียบร้อยแล้ว จะคลานออกสู่ทะเลโดยไม่กลับมาตามธรรมชาติของมัน จากนั้นพี่เกรียงจะทำหน้าที่เป็น “พ่อเลี้ยงเต่า” นำไข่กลับมาฟัก อนุบาลจนกระทั่งลูกเต่าทะเลมีอายุครบ 1 ปี โตพอที่จะรอดจากการถูกกินและทำร้ายจากสัตว์จำพวก นก ปู ปลา ฯลฯ จึงจะสามารถนำปล่อยกลับสู่ทะเล ในช่วงวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระราชทาน “เกาะมันใน” ให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สร้างศูนย์วิจัยเพื่ออนุรักษุ์พันธุ์เต่าทะเลที่กำลังจะศูนย์พันธุ์ต่อไป               
     เช้าวันใหม่ ไก่เริ่มขันส่งเสียงบอกเวลา “เต่าทะเล” เริ่มตื่นกันบ้างแล้วสังเกตจากการที่มันเริ่มว่ายน้ำไปมาอย่างมีความสุข แต่ก็มีเต่าทะเลบางตัวที่ขี้เซาไม่แพ้คนซึ่งยังคงเอาขาพาดไว้ที่ลำตัวเหมือนเอาไม้พายเรือวางเรียบที่ขอบเรือ นั่นแสดงว่ามันยังคงหลับหรือพักผ่อนอยู่นั่นเอง ฝ่ายพี่เกรียงก็ได้ตื่นมาเตรียมอาหารมื้อเช้าสำหรับเต่าทะเล อาหารที่ใช้คือ ปลาค่างเหลือง โดยจะทำการตัดหัวตัดหาง แล่เฉพาะส่วนเนื้อและเอาช้อนขูดเนื้อเป็นชิ้นพอคำตามความเหมาะสมของขนาดเต่าทะเล โดยแบ่งออกเป็น เต่าเล็ก และ เต่าใหญ่               
     สำหรับการให้อาหารพี่เกรียงจะใช้เหล็กเคาะให้เกิดเสียงเพื่อแสดงสัญญาณว่ามื้อเช้ามาเสิร์ฟแล้ว ลูกเต่าตัวเล็กตัวน้อยเมื่อทราบถึงสัญญาณเหล่านั้นก็จะรีบว่ายน้ำมาอยู่ที่ขอบอ่างดูน่ารักไม่แพ้ทารกแรกเกิดเลย เมื่อชิ้นเนื้อปลาตกลงถึงก้นอ่างมันพากันว่ายไปจิกกินทีละนิดทีละน้อย บางทีเมื่อลูกเต่ากัดกัน หลังจากให้อาหารเสร็จแล้วพี่เกรียงจะทายาใส่แผลและใช้ตระกร้าพลาสติกหลากสีมาทำการแยกเพื่อไม่ให้ลูกเต่ากัดกันจนเกิดแผลที่สามารถติดเชื้อได้ง่าย “พ่อเลี้ยงเต่า” อย่างพี่เกรียงทำกิจกรรมเช่นนี้อยู่ทุกๆวัน                “เกาะมันใน” แห่งนี้เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของเต่าทะเล เต่าอาจสัมผัสได้ถึงคาวมห่วงใย ความใส่ใจและการดูแลเป็นอย่างดีของ “พ่อเลี้ยงเต่า” แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เต่าทะเลเหล่านั้นก็ต้องกลับไปยังผืนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ บ้านที่แท้จริงของมัน แต่ไม่น้อยตัวเลยที่จะต้องกลับมาขอความช่วยเหลือเพราะถูกทำร้ายจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายทางตรงอย่างการจับเต่าไปกิน นำกระดองไปทำเครื่องประดับขาย หรือการทำร้ายทางอ้อมโดยการแย่งชิงพื้นที่วางไข่เพื่อการสร้างรีสอร์ท ก่อเกิดขยะและมลภาวะทางเสียง ปัจจุบันนี้ไม่น้อยกว่า 10 % เต่าตายจากการกินขยะเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหารของมัน
     “เกาะมันใน” เป็นเกาะแห่งเดียวในบริเวณนี้ ที่ไม่เก็บเงินผู้เข้ามาเยี่ยมชมและไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาค้างคืน จากความเงียบสงบและการที่เป็นเกาะอนุรักษ์ ทำให้เห็นถึงความงามของเกาะที่ไม่อาจพบเห็นได้ที่เกาะอื่น ความใสของท้องฟ้าและน้ำทะเล แต่ก็ยังพบขยะที่ถูกพัดมาจากบริเวณอื่นอยู่บ้างเหมือนกันซึ่งขยะเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาสำหรับเต่าอยู่ 
     พี่เกรียงเล่าอีกว่า มีเหตุการณ์หนึ่ง มีเต่าทะเลที่เกิดอุบัติเหตุโดยขาของมันไปติดกับใบพัดเรือของชาวประมงเข้าจนได้รับบาดเจ็บ “เต่ามันเหมือนคนเลย ถ้าไม่เจ็บปางตายจริงๆ ก็ไม่ยอมขอความช่วยเหลือ”เต่าที่ได้รับบาดเจ็บตัวนั้นจะว่ายน้ำเข้ามาใกล้ๆชายหาดเพื่อขอความช่วยเหลือ พี่เกรียงก็ทำการดูบาดแผล ทายา ฉีดยาระงับความปวดและให้น้ำเกลือโดยรักษาตามอาการจนกว่าจะหายดี บางตัวชาวประมงไปพบขณะออกหาปลาก็จะนำมาส่งให้ที่ศูนย์โดยไม่นำไปกินหรือขาย ซึ่งเจ้าหน้าที่กับชาวประมงในพื้นที่ก็มีการร่มมือในการอนุรักษ์เต่าทะเลเป็นอย่างดี             
     เมื่อมืดแล้วเต่าบนเกาะมันในแห่งนี้ก็ต้องได้รับการพักผ่อนเหมือนกับคน เวลาสี่ทุ่มเป็นเวลาที่ทั้งเกาะจะต้องปิดไฟ พี่เกรียงเดินมาปิดประตูและปิดไฟบริเวณพิพิธภัณฑ์เต่าทะเล เขาเดินมาตัวเปล่าต่างกับฉันที่ต้องใช้ไฟฉายคอยส่องแสงนำทาง ฉันจึงเอาไฟฉายส่องในขณะที่พี่เกรียงกำลังล็อคกุญแจอยู่ แล้วถามเขาด้วยความสงสัยว่า “มองเห็นมั๊ยคะ?” คำตอบจากชายผู้นี้คือ “พี่ชินแล้วครับ” พี่เกรียงบอกว่า“จริงๆแล้วพี่ไม่ได้ชอบทะเลนะ ชอบภูเขา” เมื่อมาอยู่ทะเลที่ไม่ว่าเวลาไหนๆก็จะมีแต่เสียงคลื่น “ซู่ซ่า”ไปหมด ชอบไม่ชอบก็ต้องรู้จักปรับตัว เพราะมนุษย์คือนักปรับตัว             
     เวลานี้ทั้งเกาะมืดสนิทเหลือเพียงแสงไกลๆจากเกาะมันกลางและเกาะมันนอก แสงระยิบระยับเรืองรองจากดวงดาวบนท้องฟ้า นี่เป็นวันสุดท้ายที่ฉันได้มีโอกาสสุดพิเศษในการนอนค้างที่ “เกาะมันใน” แห่งนี้ สามวันนี้แม้จะรู้สึกถึงความลำบากเพราะไม่เคยชิน แต่ฉันก็ปรับตัวได้ เช่นเดียวกับเต่าทะเล ซึ่งพวกมันเองก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน                     
     หากมนุษย์คือนักปรับตัว เราก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ "เต่าทะเล" ที่นี่ ทั้งเต่าตะหนุและเต่ากระ มันน่ารักน่าเอ็นดูแต่ก็น่าเสียดายที่มันกำลังจะสูญพันธุ์เพราะการทำร้ายจากน้ำมือมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

แล้วมนุษย์อย่างเรา ยังจะทำร้ายเต่าตัวเล็กๆได้ลงคอเชียวหรือ ? . . .


มีแฟนหรือยัง . . .

"มีแฟนหรือยัง" ประโยคที่ถูกถามซ้ำมากที่สุดของบรรดาคนรู้จักทั้งหลาย
ตั้งแต่เพื่อนฝูง อ.สมัยประถมยันมัธยม พี่ ป้า น้า อา 9ล9
นี่คือคำทักทายที่ไม่ใช่คำถาม ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีคำตอบก็ได้
วินาทีนี้ความเงียบและใบหน้ายิ้มเจื่อนนั้นอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

ถึงชายผู้หลงไหลใน"นิโคติน"

แด่ผู้ใช้นิโคตินทุกท่าน เราได้มีโอกาสอ่านหนังสือของสตีเฟ่น คิงก์ มีประโยคๆหนึ่งที่เรายกมาให้อ่าน (ไม่ยักจะรู้ว่าตัวหนังสือก็ยกกันได้แฮะ) เป็นประโยคที่พูดถึงนิโคตินได้ตรงใจเรา แม้เราจะไม่เคยทดลองใช้มันก็ตามนะ
"นิโคติน เป็นสารเสพติดกระตุ้นประสาทให้ทำงานได้เต็มเหนี่ยว แต่ก็คร่าชีวิตของคุณไปได้ในเวลาเดียวกัน"
สตีฟ | 150
อยากให้เข้าใจว่าคนที่บ่นๆเรื่องกลิ่นและความร้ายกาจของมัน เขาไม่ได้มีเจตนาไม่ดี หรือว่าคนที่สูบบุหรี่นั้นไม่ดีหรอก เขาแค่ "เป็นห่วง"

กางร่ม

ร่ม
เราเป็นคนชอบร่ม
เรารู้สึกดีที่ได้กลางร่มในวันแดดออก-
และวันที่ฝนตก
แต่เราจะรู้สึกดีกว่า
ถ้าเราไม่ได้อยู่ใต้ร่มเพียงลำพัง . . .
@:puifff
13:07:2013
22:11

บันทึกการอ่านของ : puifff

ล่าสุดวันนี้ หนังสือที่ฉันเพิ่งอ่านจบไปคือ
8 1/2 ริกเตอร์ การตามหาหัวใจที่สาบสูญ : อนุสรณ์ ติปยานนท์ 17:07:13 และย้อนไปเมื่อวานหนังสือที่อ่านจบก็คือ ลอนดอน กับความลับในรอยจูบ ของอนุสรณ์ ติปยานนท์เช่นกัน สำหรับ ลอนดอน กับความรักในรอยจูบนั้น เมื่ออ่านจบแล้ว ตัวของฉันยังคงเหมือนคนที่เพิ่งชมภาพยนตร์จบแล้วไม่ยอมลุกจากที่ด้วยความค้างคาใจหรือกำลังนั่งทบทวนเนื้อหาของภาพยนตร์อยู่ก็เป็นได้ หนังสือเล่มนี้สร้างความสะเทือนใจให้ดิฉันได้ไม่น้อย ถือเป็นหนึ่งในหนังสือที่ฉันต้องบ่นว่า หายไปไหนมา ทำไมเพิ่งได้อ่าน เฉกเช่นเดียวกับหนังสือนาฏกรรมเมืองหรรษาของชาติวุฒิ ส่วน 8 1/2 ริกเตอร์ อ่านๆอยู่ ฉันมีความกลัวในการอ่าน ฉันกลัวในจดหมายปริศนาเหล่านั้น มันมีบรรยากาศของความน่ากลัวแห่งสิ่งเร้นรับอบอวนอยู่รอบๆ แต่เมื่อปริศนาคลี่ปลม ตอนจบของเล่มมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น ไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆตามมาหลังอ่านจบ ต่างจาก ลอนดอน ที่เมื่ออ่านจบหรือขณะอ่านอยู่นั้นล้วนเต็มไปด้วยคำถามและข้อสงสัยมากมายแต่ก็ดูเหมือนว่าผู้เขียนจะรู้ผู้เขียนจึงมีคำตามและบทสนทนาก่อนกันยาเยือนอยู่ท้ายเล่มด้วย ทำให้คลายความเบาบางของความสงสัยลงไปได้ไม่น้อย

สถานีสุดท้าย | จุดหมายปลายทางของ”รักแท้”

สถานีสุดท้าย | จุดหมายปลายทางของ"รักแท้" 
นวนิยายเรื่องนี้ มีเค้าโครงจากเรื่องจริงครึ่งต่อครึ่ง อีกครึ่งคือการปรุงรสเติมสีสันให้กับมัน แต่เนื่องจากว่ามันมีส่วนที่มาจากเรื่องจริง(ชีวิตจริงของผู้เขียน) ทำให้บ่อยครั้งนัก ที่ผู้เขียนไม่อยากเขียนเพราะไม่อยากนึกถึงอดีต ไม่อยากคิดถึงบุคคลผู้เป็นที่รักและเป็นผู้มอบแผลเป็นแห่งความเจ็บปวด แต่ลึกๆแล้ว การที่ดิฉันบอกว่าดิฉันไม่อยากนึกถึงนั้น แท้จริงแล้วดิฉันกำลังต่อต้านทัดแรงอยู่กับความคิดถึงอันมหาศาล ฉันยังคงคิดถึงเขาอยู่ตลอดเวลา ฉันยังคงนักถึงเขาเสมอทุกเวลาทุกโอกาส การจะปลดปล่อยพรรธนาการแห่งความคิดถึงอันรุนแรงนี้ก็คือการนึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และการเขียนมันออกมา
ความคิดถึงเหล่านั้นจะถูกกักขังไว้ในนวนิยายเรื่องนี้ ตัวอักษรแห่งความคิดถึงเหล่านั้นจะไม่มีวันออกมาเพ่นพ่านในหัวของฉันอีก
หลังจากฉันส่งต้นฉบับ เมื่อมันถูกตีพิมพ์ ฉันจะไม่เปิดอ่านมันอีกเลย และความคิดถึงเหล่านั้นจะอยู่ในหนังสือเล่มนั้น หนังสือที่ชื่อว่า "สถานีสุดท้าย | จุดหมายปลายทางของ . . . รักแท้" ตลอดไป
แด่ . . . พริษฐ์
      
: puifff
17 : 07 : 13
23 : 07

ว่าด้วยเรื่อง ภาพยนตร์

ภาพยนตร์มีคุณลักษณะพิเศษ คือ การเห็นภาพและเสียง ที่เสมือนจริงและชวนประทับใจ เหมือนว่าได้พาเราเข้าไปสู่เหตุการณ์นั้นจริงๆ ภาพยนตร์มีอิทธิพลต่อผู้ชมเป็นอย่างมาก ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ชม เป็นเหตุให้เกิดการแพร่หลายจนได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ภาพยนตร์ หรือที่เราเรียกกันว่า “หนัง” ได้ถูกพัฒนา ปรับปรุงมาเรื่อยๆไม่ว่าจะเป็นในแง่ เนื้อหา หรือเทคนิค วิธีการนำเสนอ  จากยุคเริ่มต้น ที่ภาพยนตร์คือการบันทึกภาพด้วยฟิล์ม แล้วนำเสนอโดยการฉายในลักษณะที่เคลื่อนไหว ( motion picture) ซึ่งก็คือภาพนิ่งจำนวนมากที่มีอิริยาบถเคลื่อนไหว ถูกนำมาตัดต่อตามเหตุการณ์และเรื่องราว ซึ่งอาจจะเป็นเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ ภาพยนตร์ในสมัยก่อนนั้นมีข้อจำกัดหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น ภาพขาว-ดำ ไม่มีเสียง ระยะเวลาสั้น ข้อจำกัดเรื่องระยะเวลานั้น ปัจจุบันนี้ ภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง เวลาประมาณหนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง สั้นพอที่จะเล่าเรื่องราวของคนคนหนึ่งเกือบทั้งชีวิตแต่อาจจะยาวไม่พอที่จะเล่าเรื่องราวทั้งชีวิตของคนคนนั้น ก็อยู่ที่ผู้สร้างว่าต้องการที่จะหยิบยกประเด็นใดขึ้นมา
บทบาทและหน้าที่ของภาพยนตร์ไม่ได้มีเพียงแต่ด้านของความบันเทิงเพียงอย่างเดียว นอกจากบทบาทหน้าที่ด้านความบันเทิงแล้ว ภาพยนตร์ยังมีบทบาทด้านอื่นๆเช่น บทบาทด้านการนำเสนอข่าวสารและสาระทั่วไป บทบาทด้านการศึกษา บทบาทด้านค่านิยมของบุคคลและสังคม และบทบาทด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เป็นต้น โดยภาพยนตร์มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ชมเป็นอย่างมากส่งผลให้เกิดพฤติกรรมในการเลียนแบบ จึงให้ได้ทั้งคุณและโทษแก่ผู้ชม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้สร้างในการเลือกนำเสนอสิ่งที่เหมาะสมให้แก่ผู้ชม และก็เป็นหน้าที่ของผู้ชมเช่นกันที่ควรจะมีวิจารณญาณในการรับชม
ตัวอย่าง จากภาพยนตร์เรื่อง “รักแรกในความทรงจำ” Architecture 101
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหนุ่มสาวสองคนที่มีความผูกพันกับความรักครั้งแรกในอดีต จนเมื่อเวลาผ่านไป 15 ปีทั้งสองได้กลับมาพบกันอีกครั้งพร้อมกับคำสัญญาในวัยเด็กของชายหนุ่มว่าจะสร้างบ้านให้เธอ . . .  
“ทำไมถึงมาหาฉันได้ล่ะ ไม่มีคนอื่นที่สร้างบ้านให้เธอได้เลยหรือไง”
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเปรยว่าความรักนั้นเหมือนกับการสร้างบ้าน  “เมื่อเราไปที่บ้านใครคนหนึ่งแล้วละก็ ในระหว่างการสร้างบ้านโดยเข้าใจถึงความต้องการของอีกฝ่าย มันทำให้คนสองคนเข้าใจความต้องการของกันและกัน การที่สามารถเข้าใจในตัวอีกฝ่ายได้นั้นก็เหมือนกับ “โครงสร้างของความรัก”  คำกล่าวของผู้กำกับภาพยนตร์
                ภาพยนตร์บางเรื่องไม่ได้เฉลยคำตอบ จุดจบหรือบทสรุปของภาพยนตร์ที่ชัดเจนออกมา ผู้ชมจะได้รับข้อความที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์นั้น โดยก็เป็นสิทธิของผู้ชมว่าต้องการจะหาข้อความที่ถูกซ่อนอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าภาพยนตร์นั้นไม่ได้ให้แค่อรรถรสความบันเทิงแต่ก็ยังให้สาระแก่ผู้ชมด้วย
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในแง่ศีลธรรมจากภาพยนตร์เรื่อง The Reader ที่มีฉากที่ตัวละครซึ่งเป็นหญิงวัยกลางคนมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มวัยสิบห้า ซึ่งต้องมองว่าผู้ชมใช้วิจารณญาณส่วนใดในการรับชม มองแค่ความบันเทิง หรือมองถึง ข้อความที่ภาพยนตร์สอดแทรกมา ฉากการมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในภาพยนตร์ โดยภาพยนตร์พูดถึงค่ายกักกันซึ่งให้สาระในแง่ประวัติศาสตร์ และอีกสิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์บอกคือ ชายหนุ่มวัยสิบห้าเมื่อเขาเติบโตเขาปราถนาการอ่านออกเสียง เพราะในช่วงวัยหนุ่ม ก่อนเขาจะมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวคนนั้นเขาจะต้องอ่านหนังสือให้เธอฟังก่อน ซึ่งเป็นการอ่านออกเสียงดังๆ (Reading Around) ซึ่งหนังสือที่เขาอ่านให้เธอฟังนั้นก็ล้วนเป็นวรรณกรรมสุดคลาสสิค ชิ้นเอกของโลก เช่น มหากาพย์โอดิสซี ฯ
เรื่องสุดท้ายคือเรื่ององค์ประกอบของภาพยนตร์ สภาพการฉายภาพยนตร์หรือ “บรรยากาศ” ที่อยู่ในโรงภาพยนตร์ “ความมืด” ที่บังคับให้ผู้ชมสนใจในจุดๆเดียวกัน คือ จอภาพ หน้าจอสีขาวๆรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่ใช่หน้าอกหน้าใจ ดั่งที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ ค่าตั๋ว 140 บาทที่เสียไปเป็นการสนับสนุนแก่ผู้สร้างภาพยนตร์เพื่อนให้เกิดกำลังใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องต่อๆไป 140 บาทอาจถูกกว่าการเข้าใช้โรงแรม แต่อย่างไร โรงภาพยนตร์ก็คือสถานที่ฉายภาพยนตร์ให้แก่ผู้คน โปรดอย่าฉกฉวยบรรยากาศที่สร้างมาเพื่อความตื่นเต้นส่วนตัวของตนเองเลย

Bottle Cartoon


Back to Top