พ่อบ้าน ผู้พิทักษ์ “เต่าทะเล”


พ่อบ้าน ผู้พิทักษ์ “เต่าทะเล”     


     “เราต้องทำด้วยใจรัก ถ้าเรามีใจรักแล้ว เราจะทำงานด้วยความสุข เพราะเราจะไม่เครียดกับมัน”
คำพูดของ “เกรียงศักดิ์ ดิษฐวุฒิ” หรือ “พี่เกรียง” เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เกาะมันใน จังหวัดระยอง ชายวัย 51 ปี ที่ยังคงดูหนุ่มและใจดี ซึ่งทำงานกับเต่าบนเกาะที่ไร้แสงสีแห่งนี้มาถึง 20 ปี               
     เดิม “พี่เกรียง” เป็นคนอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานประจำของบริษัททั่วไป จนกระทั่งอายุ 30 ปี มีเพื่อนชักชวนมาให้ทำงานที่ “เกาะมันใน” เขาจึงตัดสินใจมาโดยไม่ลังเล ฉันจึงถามพี่เกรียงว่า เบื่อหรือไม่ที่ต้องอยู่บนเกาะที่น้ำไฟมีจำกัด ต้องตื่นแต่เช้ามาดูแลเต่า ทำแบบนี้เดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวัน “ถ้าพี่เบื่อ พี่ก็ลาออกแล้ว” คำพูดพร้อมเสียงหัวเราะและแววตาที่ดูอบอุ่นของเขาทำให้ฉันได้สัมผัสถึงความผูกพันที่เขามีต่อเต่าทะเลในเกาะมันในแห่งนี้               
     เขาเล่าถึงการทำงานผู้พิทักษ์เต่าทะเลว่า               
     “การทำงานไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องทำงานชิ้นนั้นชิ้นนี้ จะทำตั้งแต่การเพาะฟัก การอนุบาล การสำรวจแม่พันธุ์เต่าที่ไปวางไข่ตามที่ต่างๆ งานค่อนข้างหลากหลายและจะคอยผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่”               
    อย่างการออกไปสำรวจแม่พันธุ์ที่มาวางไข่ เมื่อแม่เต่าทะเลวางไข่เรียบร้อยแล้ว จะคลานออกสู่ทะเลโดยไม่กลับมาตามธรรมชาติของมัน จากนั้นพี่เกรียงจะทำหน้าที่เป็น “พ่อเลี้ยงเต่า” นำไข่กลับมาฟัก อนุบาลจนกระทั่งลูกเต่าทะเลมีอายุครบ 1 ปี โตพอที่จะรอดจากการถูกกินและทำร้ายจากสัตว์จำพวก นก ปู ปลา ฯลฯ จึงจะสามารถนำปล่อยกลับสู่ทะเล ในช่วงวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระราชทาน “เกาะมันใน” ให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สร้างศูนย์วิจัยเพื่ออนุรักษุ์พันธุ์เต่าทะเลที่กำลังจะศูนย์พันธุ์ต่อไป               
     เช้าวันใหม่ ไก่เริ่มขันส่งเสียงบอกเวลา “เต่าทะเล” เริ่มตื่นกันบ้างแล้วสังเกตจากการที่มันเริ่มว่ายน้ำไปมาอย่างมีความสุข แต่ก็มีเต่าทะเลบางตัวที่ขี้เซาไม่แพ้คนซึ่งยังคงเอาขาพาดไว้ที่ลำตัวเหมือนเอาไม้พายเรือวางเรียบที่ขอบเรือ นั่นแสดงว่ามันยังคงหลับหรือพักผ่อนอยู่นั่นเอง ฝ่ายพี่เกรียงก็ได้ตื่นมาเตรียมอาหารมื้อเช้าสำหรับเต่าทะเล อาหารที่ใช้คือ ปลาค่างเหลือง โดยจะทำการตัดหัวตัดหาง แล่เฉพาะส่วนเนื้อและเอาช้อนขูดเนื้อเป็นชิ้นพอคำตามความเหมาะสมของขนาดเต่าทะเล โดยแบ่งออกเป็น เต่าเล็ก และ เต่าใหญ่               
     สำหรับการให้อาหารพี่เกรียงจะใช้เหล็กเคาะให้เกิดเสียงเพื่อแสดงสัญญาณว่ามื้อเช้ามาเสิร์ฟแล้ว ลูกเต่าตัวเล็กตัวน้อยเมื่อทราบถึงสัญญาณเหล่านั้นก็จะรีบว่ายน้ำมาอยู่ที่ขอบอ่างดูน่ารักไม่แพ้ทารกแรกเกิดเลย เมื่อชิ้นเนื้อปลาตกลงถึงก้นอ่างมันพากันว่ายไปจิกกินทีละนิดทีละน้อย บางทีเมื่อลูกเต่ากัดกัน หลังจากให้อาหารเสร็จแล้วพี่เกรียงจะทายาใส่แผลและใช้ตระกร้าพลาสติกหลากสีมาทำการแยกเพื่อไม่ให้ลูกเต่ากัดกันจนเกิดแผลที่สามารถติดเชื้อได้ง่าย “พ่อเลี้ยงเต่า” อย่างพี่เกรียงทำกิจกรรมเช่นนี้อยู่ทุกๆวัน                “เกาะมันใน” แห่งนี้เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของเต่าทะเล เต่าอาจสัมผัสได้ถึงคาวมห่วงใย ความใส่ใจและการดูแลเป็นอย่างดีของ “พ่อเลี้ยงเต่า” แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เต่าทะเลเหล่านั้นก็ต้องกลับไปยังผืนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ บ้านที่แท้จริงของมัน แต่ไม่น้อยตัวเลยที่จะต้องกลับมาขอความช่วยเหลือเพราะถูกทำร้ายจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายทางตรงอย่างการจับเต่าไปกิน นำกระดองไปทำเครื่องประดับขาย หรือการทำร้ายทางอ้อมโดยการแย่งชิงพื้นที่วางไข่เพื่อการสร้างรีสอร์ท ก่อเกิดขยะและมลภาวะทางเสียง ปัจจุบันนี้ไม่น้อยกว่า 10 % เต่าตายจากการกินขยะเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหารของมัน
     “เกาะมันใน” เป็นเกาะแห่งเดียวในบริเวณนี้ ที่ไม่เก็บเงินผู้เข้ามาเยี่ยมชมและไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาค้างคืน จากความเงียบสงบและการที่เป็นเกาะอนุรักษ์ ทำให้เห็นถึงความงามของเกาะที่ไม่อาจพบเห็นได้ที่เกาะอื่น ความใสของท้องฟ้าและน้ำทะเล แต่ก็ยังพบขยะที่ถูกพัดมาจากบริเวณอื่นอยู่บ้างเหมือนกันซึ่งขยะเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาสำหรับเต่าอยู่ 
     พี่เกรียงเล่าอีกว่า มีเหตุการณ์หนึ่ง มีเต่าทะเลที่เกิดอุบัติเหตุโดยขาของมันไปติดกับใบพัดเรือของชาวประมงเข้าจนได้รับบาดเจ็บ “เต่ามันเหมือนคนเลย ถ้าไม่เจ็บปางตายจริงๆ ก็ไม่ยอมขอความช่วยเหลือ”เต่าที่ได้รับบาดเจ็บตัวนั้นจะว่ายน้ำเข้ามาใกล้ๆชายหาดเพื่อขอความช่วยเหลือ พี่เกรียงก็ทำการดูบาดแผล ทายา ฉีดยาระงับความปวดและให้น้ำเกลือโดยรักษาตามอาการจนกว่าจะหายดี บางตัวชาวประมงไปพบขณะออกหาปลาก็จะนำมาส่งให้ที่ศูนย์โดยไม่นำไปกินหรือขาย ซึ่งเจ้าหน้าที่กับชาวประมงในพื้นที่ก็มีการร่มมือในการอนุรักษ์เต่าทะเลเป็นอย่างดี             
     เมื่อมืดแล้วเต่าบนเกาะมันในแห่งนี้ก็ต้องได้รับการพักผ่อนเหมือนกับคน เวลาสี่ทุ่มเป็นเวลาที่ทั้งเกาะจะต้องปิดไฟ พี่เกรียงเดินมาปิดประตูและปิดไฟบริเวณพิพิธภัณฑ์เต่าทะเล เขาเดินมาตัวเปล่าต่างกับฉันที่ต้องใช้ไฟฉายคอยส่องแสงนำทาง ฉันจึงเอาไฟฉายส่องในขณะที่พี่เกรียงกำลังล็อคกุญแจอยู่ แล้วถามเขาด้วยความสงสัยว่า “มองเห็นมั๊ยคะ?” คำตอบจากชายผู้นี้คือ “พี่ชินแล้วครับ” พี่เกรียงบอกว่า“จริงๆแล้วพี่ไม่ได้ชอบทะเลนะ ชอบภูเขา” เมื่อมาอยู่ทะเลที่ไม่ว่าเวลาไหนๆก็จะมีแต่เสียงคลื่น “ซู่ซ่า”ไปหมด ชอบไม่ชอบก็ต้องรู้จักปรับตัว เพราะมนุษย์คือนักปรับตัว             
     เวลานี้ทั้งเกาะมืดสนิทเหลือเพียงแสงไกลๆจากเกาะมันกลางและเกาะมันนอก แสงระยิบระยับเรืองรองจากดวงดาวบนท้องฟ้า นี่เป็นวันสุดท้ายที่ฉันได้มีโอกาสสุดพิเศษในการนอนค้างที่ “เกาะมันใน” แห่งนี้ สามวันนี้แม้จะรู้สึกถึงความลำบากเพราะไม่เคยชิน แต่ฉันก็ปรับตัวได้ เช่นเดียวกับเต่าทะเล ซึ่งพวกมันเองก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน                     
     หากมนุษย์คือนักปรับตัว เราก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ "เต่าทะเล" ที่นี่ ทั้งเต่าตะหนุและเต่ากระ มันน่ารักน่าเอ็นดูแต่ก็น่าเสียดายที่มันกำลังจะสูญพันธุ์เพราะการทำร้ายจากน้ำมือมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

แล้วมนุษย์อย่างเรา ยังจะทำร้ายเต่าตัวเล็กๆได้ลงคอเชียวหรือ ? . . .


Leave reply

Back to Top